โรงเรือนอัจฉริยะ:
นวัตกรรมตอบโจทย์เกษตร 4.0
“โรงเรือนอัจฉริยะ: นวัตกรรมตอบโจทย์เกษตร 4.0”
ด้วยตำแหน่งหน้าที่ “นักวิจัย”
ที่ต้องคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เมื่อได้รับโจทย์
“พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับการทำเกษตร” “ตุ้น-นริชพันธ์ เป็นผลดี”
ผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) จึงได้คิดค้น ทดลองและพัฒนา “แฮนดี้เซ้นส์ (handy sense) สำหรับระบบโรงเรือน” และต่อยอดการพัฒนาสู่ “โรงเรือนอัจฉริยะ”
“แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ระบบเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการทำเกษตรอัจฉริยะ
ปัจจุบันการใช้เซ็นเซอร์เพื่อทำเกษตรเป็นที่นิยมมากขึ้น
คุณตุ้นให้ความเห็นว่า “การใช้เซ็นเซอร์ในระบบสมาร์ทฟาร์มมีค่อนข้างเยอะ
ผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถเขียนโปรแกรมต่างๆ เพื่อดำเนินงานด้านการเกษตรได้
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่เพียงการใช้งานได้
แต่ต้องเป็นการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงทน
และเหมาะสมกับการทำเกษตรของบ้านเราที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ปัจจุบันเรานำเข้าเซ็นเซอร์ที่ผลิตจากต่างประเทศ
ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่มีสภาวะแวดล้อมคงที่เป็นหลัก เช่น
ในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อนำมาใช้งานด้านการเกษตรที่มีสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอด
เซ็นเซอร์จึงใช้งานได้ไม่นาน แต่แฮนดี้เซ้นส์ของ TMEC
เป็นเซ็นเซอร์ที่พัฒนาเพื่อการทำเกษตรโดยเฉพาะ
สอดคล้องกับการใช้งานจริงของประเทศไทยที่สภาพอากาศแปรปรวน โดยทำหน้าที่วัด
แจ้งเตือน และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด”
คุณตุ้นให้ข้อมูลภาพการใช้งานเซ็นเซอร์
“แฮนดี้เซ้นต์-TMEC” จะควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืช
ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และแสง เมื่อค่าต่างๆ
สูง/ต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะทำงานปรับสภาพในโรงเรือนโดยอัตโนมัติ
พร้อมทั้งแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรผ่านโทรศัพท์มือถือ
คุณตุ้นบอกว่า การใช้งานแฮนดี้เซ้นต์-TMEC ไม่ยุ่งยาก สามารถรับส่งข้อมูล แจ้งเตือน
และสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้ โดยใช้งานผ่าน web
application ปัจจุบันระบบได้ใส่ค่าอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ
ความชื้นในดิน และแสงของพืชไว้หลายชนิด เช่น ข้าว เมล่อน มะเขือเทศ กุหลาบ เห็ด
ซึ่งเกษตรกรสามารถเพิ่มชนิดของพืชและป้อนข้อมูลต่างๆ เพิ่มได้
เมื่องานวิจัยลงแปลงเกษตร
เมื่อได้พัฒนา “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC”
จากโจทย์วิจัยที่ตั้งเป้าไว้ว่า “ต้องเป็นเซ็นเซอร์สำหรับการเกษตร
ที่ใช้กับสภาวะแวดล้อมของประเทศ ราคาไม่แพง และใช้งานง่าย”
วิธีดีที่สุดที่จะพิสูจน์ผลงานที่พัฒนาขึ้นคือ การทดลองใช้ คุณตุ้นจึงได้พูดคุยกับ
“คุณพ่อ-สนั่น เป็นผลดี” เพื่อขอใช้พื้นที่บางส่วนสร้างโรงเรือนปลูกพืชที่ใช้
“แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ซึ่งด้วยความชื่นชอบเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิมบวกกับความรักในการปลูกพืช
คุณพ่อสนั่นจึงสนับสนุนเต็มที่ โรงเรือนขนาด 8x18 เมตรสำหรับปลูกมะเขือเทศราชินี
จำนวน 2 หลังพร้อมระบบเซ็นเซอร์จึงเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน
จากการทดลองติดตั้ง “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ในโรงเรือนทั้งสองหลัง พบว่า
การทำงานของระบบมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการควบคุมสภาพแวดล้อมและการแจ้งเตือน
ที่สำคัญได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
“ปลูกคร็อปแรกก็ได้ผลดีเลย การปลูกพืชในโรงเรือน
นอกจากจะป้องกันเรื่องแมลงแล้ว หากควบคุมสภาวะภายในโรงเรือนได้
จะทำให้การเพาะปลูกพืชบางชนิดสามารถทำได้ตลอดปี อย่างกรณีมะเขือเทศที่ปลูก
โดยปกติไม่สามารถปลูกในฤดูร้อนได้
แต่เมื่อปลูกในโรงเรือนนี้สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ใกล้เคียงกับการปลูกในฤดูหนาว
ซึ่งเท่ากับว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกมะเขือเทศตลอดปี”
มะเขือเทศราชินีที่คุณตุ้นเลือกปลูกนี้
นอกจากจะให้ผลผลิตในฤดูร้อนด้วยแล้ว ยังมีจุดเด่นที่เป็นพันธุ์ไร้เมล็ด
รสชาติหวานและกรอบ ทำให้มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท
ต่อยอดสู่ “โรงเรือนอัจฉริยะ”
“โรงเรือนอัจฉริยะ คือ
โรงเรือนปลูกพืชที่มีระบบอัตโนมัติควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมการให้น้ำ ปุ๋ย
ให้เหมาะสมกับชนิดของพืช” คุณตุ้นอธิบายถึงคำว่า “อัจฉริยะ” ของโรงเรือน และขยายความต่อว่า
ระบบอัตโนมัติที่ว่านั้นก็คือ “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” เครื่องมือที่คุณตุ้นได้วิจัยและพัฒนาขึ้นมานั่นเอง
หลังจากสวมหมวกเกษตรกรทดสอบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในหน้างานจริงแล้ว
แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะน่าพอใจ แต่คุณตุ้นพบว่า หากโครงสร้างโรงเรือนสามารถรองรับเทคโนโลยีที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้น
การแก้ปัญหาต่างๆ ในโรงเรือนจะน้อยลง จึงนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างและระบบต่างๆ
ในโรงเรือนให้สอดรับกับ “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC”
ที่เป็นเทคโนโลยีหลักของโรงเรือน
“ขนาดโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชเชิงพาณิชย์คือ
6x20 เมตรขึ้นไป จึงได้ออกแบบโครงสร้างร่วมกับศูนย์บริการปรึกษาและออกแบบวิศวกรรม
สวทช. ให้มีความสูงที่เหมาะสม มีระบบไหลเวียนอากาศ ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ
และเพิ่มม่านเปิดปิดเพื่อควบคุมแสง”
โรงเรือนที่พัฒนาต่อยอดขึ้นใหม่นี้จะเริ่มใช้งานจริงที่บริษัท
เชียงใหม่ซี้ดส์ จำกัด ภายในปีนี้ และจะขยายการใช้งานสู่เกษตรกรหรือผู้สนใจต่อไป
สำหรับเรื่องราคานั้น คุณตุ้นบอกว่า ค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่ตัวโครงสร้างโรงเรือน
ซึ่งโครงสร้างและอุปกรณ์หลักในโรงเรือน ราคาประมาณ 2
แสนบาท แต่ถ้าเฉพาะเซ็นเซอร์ราคาประมาณหมื่นบาท
ตอบโจทย์ “เกษตร 4.0” รองรับ “สังคมผู้สูงวัย”
นอกจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้จะตอบโจทย์การใช้งานได้จริงในการทำเกษตร
ช่วยลดระยะเวลาและแรงงานแล้ว ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมในวันที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่
“สังคมผู้สูงวัย”
“เห็นได้จากคุณพ่อซึ่งเกษียณแล้ว
แต่สามารถที่จะทำงานเกษตรได้ บริหารจัดการมะเขือเทศ 400 กว่าต้นในโรงเรือน
โดยไม่ต้องใช้แรงงานและเวลามาก ตอนเช้าเดินใช้เวลา 1-2 ชม.
ในโรงเรือน หลังจากนั้นมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น
แต่ก็สามารถดูแลและควบคุมระบบต่างๆ ในโรงเรือนผ่านมือถือได้” คุณตุ้นเล่าถึงอีกแง่มุมหนึ่งของเทคโนโลยีระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงวัย
คุณพ่อสนั่น บอกว่า ตอนนี้มีผู้สูงวัยมากขึ้น
การใช้เทคโนโลยีก็เป็นเครื่องทุ่นแรงให้กับผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยที่อยากทำเกษตร
ก็ยังทำได้ และยังมีรายได้เสริมด้วย
ไม่เพียงดูแลโรงเรือนมะเขือเทศ
คุณพ่อสนั่นยังบริหารจัดการโรงเรือนทุกขั้นตอนตั้งแต่จัดการแปลงไปถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของโรงเรือน
รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ
ในพื้นที่เกี่ยวกับการปลูกพืชในระบบโรงเรือนนี้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล
nstda.or.th
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
Post A Comment:
0 comments: