เครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิตข้าว ตอนที่ 1 เครื่องมือเตรียมดิน

Share it:
เครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิตข้าว
ตอนที่ 1 เครื่องมือเตรียมดิน

เครื่องมือเตรียมดิน

 - รถไถเดินตาม
ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 8 – 11 แรงม้า กำลังขับเคลื่อนทำหน้าที่พ่วงลากผานไถ ซึ่งมีทั้งแบบไถหัวหมูและแบบไถจาน ส่วนประกอบของรถไถเดินตาม นอกจากเครื่องยนต์ต้นกำลังแล้วยังประกอบด้วยระบบเกียร์ซึ่งประกอบด้วยเกียร์เดินหน้า 2 เกียร์ และถอยหลัง 1 เกียร์ ล้อเหล็กขับเคลื่อน 2 ล้อ หูพ่วงลากผานไถและคันบังคับทิศทาง ความสามารถในการทำงานของรถไถ เดินตาม 3 – 5 ไร่ต่อวัน เมื่อใช้กับใบผานไถแบบหัวหมูมีจานไถ ขนาด 16 นิ้ว 2 ใบ และ 7 – 10 ไร่ต่อวัน ปัจจุบันสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมร่วมมือกับเอกชนได้พัฒนารถไถ 2 ล้อ ที่ผลิตในประเทศที่สามารถติดกับจอบหมุน ทำให้ประหยัดเวลาในการเตรียมดิน ความสามารถของรถไถเดินตามติดจอบหมุนประมาณ 10 ไร่ต่อวัน


- ขลุบหมุนพ่วงรถไถเดินตาม
     จากการเตรียมดินโดยรถไถเดินตามขนาดเล็กด้วยผาล 2 ใบ อาจทำงานได้เพียง 1 ไร่/ชม. ดังนั้นสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้เพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมดิน โดยออกแบบและพัฒนาขลุบหมุนสำหรับพ่วงรถไถเดินตามเพื่อเตรียมดินขั้นที่หนึ่ง และขั้นที่สองโดยใช้ต้นกำลัง 14 แรงม้าสำหรับขับเคลื่อนขลุบหมุน ซึ่งแยกอิสระจากเครื่องต้นกำลังรถไถเดินตาม (8-11 แรงม้า) ซึ่งประสิทธิภาพโดยประมาณ 2 ไร่/ชม. (เตรียมขั้นที่ 1 และ 2) หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่า


- รถแทรกเตอร์ 4 ล้อ
ในพื้นที่นาขนาดใหญ่ต้องใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 50 แรงม้าขึ้นไป โดยพ่วงลากเครื่องมือเตรียมดินชนิดผาล (disc tiller ) ขนาด 26 นิ้ว ชนิด 6–7 ใบ จะทำงานได้รวดเร็วความสามารถในการทำงานประมาณ 40 ไร่ต่อวัน ใช้ในการทำนาหว่านสำรวย หลังจากไถเตรียมดิน เกษตรกรจะหว่านข้าวแห้งแล้วคราดกลบรอฝน สำหรับการทำนาน้ำตรม เครื่องมือแบบจอบหมุนจะใช้แทนผาลพ่วงย่อยดินในพื้นนาที่มีน้ำขัง

- รถแทรกเตอร์ 4 ล้อขนาดเล็ก
การทำนาน้ำตมในปัจจุบัน ต้องใช้รถแทรกเตอร์ 4 ล้อขนาดเล็ก ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 40 แรงม้า เนื่องจากรถแทรกเตอร์ 4 ล้อขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับสภาพนาลุ่ม ความสามารถในการทำงานเมื่อใช้เครื่องมือเตรียมดินแบบจอบหมุนขนาดกว้าง 1.2 เมตร จะทำได้ 15 ไร่ต่อวัน รถแทรกเตอร์ 4 ล้อเล็กและจอบหมุนเป็นที่นิยมของเกษตรกรทั้งทำนา ทำไร่ เนื่องจากรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กและจอบหมุนต้องนำเข้ามีราคาแพง ดังนั้นทางสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้วิจัยพัฒนารถแทรกเตอร์ 4 ล้อขนาดเล็กใช้เครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว ขนาด 9–11.5 แรงม้าขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่วนเครื่องมือเตรียมดินแบบจอบหมุน การวิจัยพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว

- ขลุบหมุนติดรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก
ประเทศไทยมีพื้นที่นาข้าวชลประทานราว 8 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรนิยมทำนาหว่านน้ำตม 2-3 ครั้งต่อปี การเตรียมดินครั้งที่สองเพื่อให้ได้ความเป็นเทือกที่เหมาะสมและได้ระดับเป็นงาน ที่ต้องใช้เวลามาก ดังนั้นเพื่อความรวดเร็ว ในการเตรียมดินให้ทันต่อความต้องการ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้ออกแบบและพัฒนาขลุบหมุน สำหรับเตรียมดินขั้นที่สองในนาข้าวชลประทาน โดยใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 20-35 แรงม้า เป็นต้นกำลัง กำลังจากเพลาอำนวยกำลังของรถแทรกเตอร์ จะส่งผ่านไปยังเพลาขลุบหมุนลักษณะของใบมีดเป็นแบบ Cage Wheel ซึ่งมีลักษณะเป็นใบมีด เชื่อมติดกับกรงเหล็กหมุนวางเรียงสลับกัน ขลุบหมุนสามารถทำเทือกให้มีความละเอียด และเรียบได้ระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณลักษณะ         
หน้ากว้างการทำงาน 2.40  เมตร
ความเร็วรอบเพลาขลุบหมุน 218   รอบ/นาที (ที่ความเร็วรอบเพลาอำนวยกำลัง    540   รอบ/นาที)
ความสามารถการทำงาน   2.27  ไร่/ชม.
ความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง    1.97   ลิตร/ไร่
ดัชนีความเป็นเทือก 52.41 %



- เครื่องพ่นหว่านเมล็ดข้าว
การหว่านข้าวเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเกษตรกรให้ความสำคัญและพิถีพิถันในการดำเนินการมาก กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาเครื่องพ่นสารเคมีแบบติดเครื่องยนต์ ให้สามารถใช้ในการพ่นหว่านเมล็ดข้าวได้ โดยมีจุดเด่นที่เครื่องสามารถหว่านข้าวได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลา แรงงาน ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลง เมล็ดที่หว่านมีความสม่ำเสมอมากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถนำเครื่องไปใช้ในการหว่านปุ๋ยเม็ดได้
คุณลักษณะ
ต้นกำลัง     เครื่องพ่นสารเคมีแบบติดเครื่องยนต์
อัตราการทำงาน    5-8 ไร่/ชั่วโมง
ความสามารถ หว่านข้าว (ข้าวแห้งและข้าวงอก) ปุ๋ยเม็ด และสามารถใช้พ่นสารเคมีได้ตามปกติ
ข้อจำกัด     ไม่ควรใช้กับข้าวที่สกปรก หรือข้าวที่มีรากยาวเกิน 3-5 ซ.ม.
     สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมได้ทำการพัฒนาเครื่องพ่นหว่านสารเคมีให้สามารถใช้พ่นหว่านเมล็ดข้าวได้ซึ่งสามารถใช้กับการปลูกข้าวแบบหว่านนาน้ำตมและการหว่านข้าวแห้ง (หว่านสำรวย) ทำให้ประหยัดแรงงานและเมล็ดพันธุ์ การกระจายเมล็ดสม่ำเสมอสามารถหว่านข้าวงอก 5 – 8 ไร่ต่อชั่วโมง และ 10 – 12 ไร่ต่อชั่วโมง สำหรับข้าวแห้ง



ขอบคุณขอมูล สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
Share it:

เครื่องจักรกลการเกษตร

เทคโนโลยีเกษตร

Post A Comment:

0 comments: