การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยว
หมายถึงการปฏิบัติการต่อพืชขั้นสุดท้าย
ซึ่งเกี่ยวกับการเก็บเอาผลผลิตของพืชจากแปลงปลูกพืชเพื่อการบริโภค
เพื่อการแปรรูปหรือจัดจำหน่ายต่อไป การปลูกพืช ตั้งแต่ขั้นต้นผ่านการปฏิบัติ
ดูแลรักษา มาจนถึงระยะของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ก็อาจเรียกว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการผลิตดังนั้นผู้ผลิตจะต้องรู้วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเวลา
มิฉะนั้นอาจทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายตลอดจนคุณภาพของผลผลิตพืชไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
หลักเกณฑ์การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร
การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นยานั้นผู้เก็บจำเป็นต้องรู้ในเรืองรูปร่าง
ลักษณะสัณฐานของพืชและยังต้องอาศัยความรู้ทางด้านสรีรวิทยาและขบวนชีวสังเคราะห์ในพืชด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้ได้สารสำคัญ (Active constituents) ซึ่งมีฤทธิ์ในการบำบัดรักษาในปริมาณที่สูงที่สุด
สรรพคุณของพืชสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารสำคัญในพืชสมุนไพรนั้นๆปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพของสมุนไพรได้แก่
การเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาที่เก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บสมุน ไพร
จะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญในสมุนไพร
นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรยังต้องคำนึงถึงการเก็บสมุนไพรให้ถูกต้นและเก็บให้ถูกส่วนอีกด้วย
เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อปริมาณของสารสำคัญ
ซึ่งจะเกี่ยวโยงถึงผลในการรักษาโรคของสมุนไพรนั้น ๆ
หลักสำคัญในการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร มีดังนี้
เก็บเกี่ยวถูกระยะเวลา ที่มีปริมาณสารสำคัญสูงสุด
การนำพืชสุมนไพรไปใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดนั้น
ในพืชจะต้องมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร ดังนั้นการเก็บเกี่ยวสมุนไพร
จึงต้องคำนึงถึงทั้งอายุเก็บเกี่ยว และช่วงระยะเวลาที่พืชให้สารสำคัญสูงสุดด้วย
เก็บเกี่ยวถูกวิธี โดยทั่วไปการเก็บส่วนของพืชสมุนไพรแบ่งออกตามส่วนที่ใช้เป็นยาดังนี้
1.1 ประเภทรากหรือหัว เช่น กระชาย, ข่า, ขิง และ ไพล เป็นต้น
ควรเก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบและดอกร่วงหมด
หรือเก็บในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน
ซึ่งเป็นช่วงที่รากและหัวมีการสะสมปริมาณสารสำคัญไว้ค่อนข้างสูง วิธีเก็บ ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง ตัดรากฝอยออก
1.2 การเก็บเปลือกรากหรือเปลือกต้น เช่น
เปลือกต้นของ เปลือกสีเสียด เปลือกทับทิม มักเก็บ ในช่วงระหว่างฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน
ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญในเปลือกจะสูง และเปลือกลอกออกง่าย ส่วนเปลือกรากควรเก็บในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะลอกได้ง่ายวิธีเก็บ
การลอกเปลือกต้นอย่าลอกออกรอบทั้งต้นควรลอกออกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อยหรือใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้
เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อระบบการลำเลียงอาหารของพืช
และไม่ควรลอกส่วนลำต้นใหญ่ของต้นซึ่งอาจทำให้พืชตายได้
1.3 ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น เช่น กะเพรา
ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด
บางชนิดจะระบุช่วงเวลาที่เก็บ ซึ่งช่วงเวลานั้นใบมีสารสำคัญมากที่สุด เช่น
เก็บใบแก่ หรือใบไม่อ่อนไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เป็นต้น วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด
1.4 ประเภทดอก เช่น ดอกคำฝอย
ดอกเบญจมาศโดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิด
ก็ระบุว่าให้เก็บในช่วงที่ดอกยังตูมอยู่ เช่น กานพลู เป็นต้น
วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด
1.5 ประเภทผลและเมล็ด
โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่เต็มที่แล้ว เช่น มะแว้ง ดีปลี ชุมเห็ดไทย แต่บางชนิดก็ระบุให้เก็บในช่วงที่ผลยังดิบอยู่
เช่นฝรั่ง เป็นต้น
วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือวิธีตัด
พืชที่ให้น้ำมันระเหย
ควรเก็บขณะดอกกำลังบานและสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมควรจะเก็บในเวลาเช้า
มืดเพื่อให้สารที่เป็นยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยนั้นไม่ระเหยหายไปกับแสงแดดเช่น กะเพรา
เป็นต้น
วิธีการเก็บสมุนไพรที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น
โดยทั่วไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อนประเภทใบหรือดอก ใช้วิธีเด็ดธรรมดา ส่วนแบบราก หัว
หรือเก็บทั้งต้น ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง เพื่อประกันให้ได้ส่วนที่เป็น
ยามากที่สุด สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก มีผลต่อการดำรงชีวิตของต้นพืชสมุนไพร
ดังนั้นจึงควรสนใจวิธีการเก็บดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ขอบคุณข้อมูล คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
Post A Comment:
0 comments: