ชนิดของสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ตอนที่1 (สัตว์เคี้ยวเอื้อง)

Share it:
ชนิดของสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์ (สัตว์เคี้ยวเอื้อง) 1
ชนิดของสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์
สัตว์เลี้ยงที่ถือว่ามีความสำคัญ และสามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกร คือ


๑. สัตว์เคี้ยวเอื้อง
ได้แก่ สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งเป็นสัตว์สี่กระเพาะ เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว จะคายออกมาเคี้ยวเอื้องอีกครั้ง ก่อนจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์
สัตว์เคี้ยวเอื้องอาจแบ่งแยกประเภทออกได้ ตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการเลี้ยงดังนี้คือ

๑.๑ โคเนื้อ
โคที่เลี้ยงในบ้านเรา เป็นโคขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตช้า ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ใช้งานเช่น ไถนา ทำไร่ และเทียมเกวียนหรือล้อ เพื่อใช้ในการขนส่งระยะสั้นๆ หลังจากเลิกใช้งานแล้ว ก็ส่งเข้าโรงฆ่า ชำแหละออกมาเป็นเนื้อวัวสำหรับบริโภค

โคเนื้อ
    


โคที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราเป็นโคขนาดเล็ก
ปัจจุบัน ทางราชการได้นำโค พันธุ์เนื้อจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ และพบว่าโคเนื้อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน หรือโค ลูกผสมอเมริกันบราห์มัน (เช่น โคพันธุ์เดราต์มาสเตอร์) สามารถเลี้ยง และเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีความทนทานต่อโรคเหมือน โคพื้นเมืองของไทย


๑.๒ โคนม
โคพื้นเมืองของไทยให้ นมน้อยประมาณวันละ ๒-๓ ลิตร ทางราชการ จึงได้ทดลองนำโคพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ด้วยกัน และพบว่า โคพันธุ์แท้ ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา ยังไม่มีความเหมาะสมกับบ้านเรา โดยเฉพาะมีการแพ้โรคต่างๆ มาก และมักจะเสียชีวิตหลังจากนำเข้าไม่นานนัก จึงได้ผลิตโคลูกผสม โดยใช้โคพันธุ์นมจากต่างประเทศที่นำเข้ามา ผสมกับวัวพื้นเมือง และพบว่า โคนมลูกผสมขาวดำ (โฮลสไตน์ ฟรีเชียน) กับโคพื้นเมือง เป็นโคนมลูกผสม ที่ให้นมดีที่สุด บางตัวให้นมสูงถึง ๓๘ ลิตรต่อวัน และทั่วๆ ไปให้นมมากกว่า ๑๐ ลิตรต่อวัน

โคนม
    


โคนมลูกผสมขาวดำ (Holstein Friesian)

๑.๓ กระบืองานหรือกระบือปลัก
กระบือบ้านเราเรียกทั่วๆ ไปว่า กระบือปลัก หรือกระบือที่เลี้ยงไว้ เพื่อใช้งานเป็นหลัก ให้น้ำนมน้อย ประมาณวันละ ๑-๒ ลิตร และเมื่อเลิกใช้งานแล้ว ก็ส่งเข้าโรงฆ่าเอาเนื้อมาบริโภค

กระบืองานหรือกระบือปลัก

    

กระบือพันธุ์พื้นเมืองตัวเมีย

๑.๔ กระบือนมหรือกระบือแม่น้ำ
กระบือชนิดนี้ เป็นกระบือที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเลี้ยงเอาไว้รีดนมโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า กระบือแม่น้ำ เป็นการเรียกตามชาวต่างประเทศ ที่เรียกว่า ริเวอร์บัฟฟาโล (River buffalo)

กระบือนมหรือกระบือแม่น้ำ

    
กระบือลูกผสมพันธุ์มูร์ราห์ (Murrah) กับพันธุ์พื้นเมืองตัวเมีย
กระบือนมมีหลายพันธุ์แต่ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเราคือ กระบือพันธุ์มูร์ราห์ ซึ่งมีการให้นมประมาณวันละ ๗-๘ ลิตร แต่ บางตัวให้นมสูงถึง ๒๐ ลิตรหรือกว่านั้น
กระบือพันธุ์นี้นอกจากให้นม แล้วยังใช้งานได้ด้วย และเมื่อรีดนมแล้วก็สามารถ ใช้เนื้อบริโภคได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันได้มีการนำกระบือมูร์ราห์ มาผสมกับกระบือบ้านเรา ปรากฏว่าลูกออกมา ให้น้ำนมมากขึ้น และสามารถใช้งานได้ดีเช่น กระบือพื้นเมือง และเนื้อก็มีคุณภาพดี

๑.๕ แพะ
แพะพื้นเมืองของบ้านเรา มีเลี้ยงกันมากในภาคใต้ ตัวค่อนข้างเล็ก หนักประมาณ ๑๐-๑๘ กิโลกรัม และมีนมน้อย ทางราชการจึงได้นำแพะพันธุ์นมจากต่างประเทศ เข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่า แพะพันธุ์ซาเนนเหมาะสม ที่จะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบ้านเรา โดยเฉพาะซาเนนลูกผสม ซึ่งให้น้ำนมประมาณ วันละ ๒-๔ ลิตร และมีความทนทานต่อโรคมากกว่าแพะพันธุ์แท้ ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยง

แพะ
    
แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) ตัวเมีย

๑.๖ แกะ
แกะพื้นเมืองเลี้ยงกันมาก ในภาคใต้เช่นเดียวกับแพะ ตัวมีขนาดเล็กมาก ประมาณ ๘-๑๒ กิโลกรัม แต่มีความทนทานต่อโรคดี ทางราชการได้ทดลองนำแกะพันธุ์ต่างๆ  เข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่า แกะพันธุ์แท้ที่นำเข้ามา ยังไม่สามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา แต่แกะลูกผสมที่เกิดจากแกะพันธุ์ดอร์เซต และพันธุ์พื้นเมือง จะสามารถเลี้ยงในบ้านเราได้เป็นอย่างดี และมีน้ำหนัก ประมาณ ๒๕-๓๐ กิโลกรัม ซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ส่งเสริมให้เลี้ยงแกะในบ้านเรา

แกะ
    
ตัวเมียแกะพันธุ์ดอร์เซต (Dorset) ตัวเมีย

ข้อมูล
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
Share it:

เกษตรสัตว์

ปศุสัตว์

Post A Comment:

0 comments: